วันที่ 20–21 พฤษภาคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) เข้าร่วมการประชุมวิชาการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 24 ภายใต้หัวข้อ “สิ่งแวดล้อมสีเขียวพร้อมด้วยสังคมคาร์บอนต่ำ สู่ความยั่งยืนเพื่อสุขภาวะที่ดีของมวลมนุษย์” ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ ดร.สุพัฒน์ หวังวังษ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์ HTAPC และ น.ส.กรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมงานประชุมวิชาการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 24 และร่วมจัดนิทรรศการในรูปแบบบูธ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษอากาศ จำนวนทั้งสิ้น 7 ผลงานได้แก่
1) การปรับแก้ค่าตรวจวัด PM2.5 จากเซนเซอร์ราคาประหยัดด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ โดย รศ. ดร. ธงชัย ขนาบแก้ว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดฝุ่นจากไอเสียรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย (รถกระบะและรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล) โดย ดร.นุวงศ์ ชลคุป สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
3) การพัฒนาระบบการตรวจวัดการระบาย PM1.0, PM2.5, และ PM10 จากปล่องแบบต่อเนื่องออนไลน์ด้วยเวลาจริง โดย รศ. ดร.พานิช อินต๊ะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
4) การวิเคราะห์ความเปราะบางเชิงพื้นที่ต่อฝุ่น PM2.5 ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดย น.ส. วรนุช จันทร์สุรย์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
5) การพัฒนาเครื่องมือจัดสร้างพื้นที่เผาไหม้จากข้อมูลจุดความร้อนแบบจำลองข้อมูลไฟป่าและแอพพลิเคชั่นภูมิสารสนเทศบนเว็บ โดย รศ. ดร. สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6) การวิจัยและพัฒนาระบบประมวลผลรายงาน การติดตาม พื้นที่การเผาในที่โล่งด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง โดย ผศ. พ.ท. ดร. สรวิทย์ สุภเวชย์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
7) การลดควันดำและPM2.5 ของเครื่องยนต์ดีเซลด้วยสารเติมแต่งน้ำมันเชื้อเพลิง โดย น.ส. ฐิติพร วัฒนกุล กรมวิทยาศาสตร์บริการ





ซึ่งเป็นการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม อันเป็นประโยชน์ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ทางด้านวิชาการระหว่างนักวิจัยจากสถาบัน การศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างองค์กรอีกด้วย

