วช. นำทัพ EARTH สู่อนาคตที่มั่นคง ด้วยการปรับปรุงและพัฒนาการรับมือแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศไทย

SHARE

วช. นำทัพ EARTH สู่อนาคตที่มั่นคง ด้วยการปรับปรุงและพัฒนาการรับมือแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศไทย

วันที่ 24 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุม หัวข้อ “เรื่อง สู่อนาคตที่มั่นคง การปรับปรุงและการพัฒนาในการรับมือแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศไทย และ ถอดบทเรียนจากการสำรวจเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณ Noto Peninsula ประเทศญี่ปุ่น” โดย ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ นำทัพนักวิจัย และวิทยากรของศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งมาแชร์เรื่องราวทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ภายในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ณ ห้องประชุม S204 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย กล่าวถึงศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) ว่าเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว สนับสนุนการดำเนินงาน โดย วช. เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยวิจัยและนวัตกรรม และนำเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงและการพัฒนาในการรับมือแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศไทยเพื่อให้เกิดความมั่นคงในอนาคต โดยมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องให้รายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

ศ. ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวถึงการเสริมกำลังอาคารที่มีอยู่ ซึ่งจากงานวิจัยด้านการเสริมกำลังอาคารต้านแผ่นดินไหว ช่วยให้มีวิธีการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของเจ้าของอาคารภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกัน ในขณะที่ระบบตรวจสอบโครงสร้างและแจ้งเตือนเพื่อประเมินผลกระทบจากแผ่นดินไหวสำหรับอาคารสูง ศ. ดร.นคร ภู่วโรดม กล่าวว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ตอบคำถามผู้ใช้อาคารได้ว่าผู้ใช้อาคารมีความปลอดภัยหรือสามารถใช้งานอาคารต่อได้หรือไม่

และ ผศ. ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ อธิบายถึงการสร้างแบบจำลองเมืองเพื่อประเมินผลกระทบและความเสียหายจากภัยพิบัติ ซึ่งผลกระทบจากแผ่นดินไหวจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่หลากหลายในการประเมิน การสร้างแพลตฟอร์มในรูปแบบแอพลิเคชันจะทำให้เข้าถึงและเข้าใจง่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอการสำรวจและถอดบทเรียนความเสียหายจากแผ่นดินไหว บริเวณ Noto Peninsula ประเทศญี่ปุ่น โดยมี รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ นำเสนอภาพรวมและเส้นทางการสำรวจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 บริเวณ Noto Peninsula ประเทศญี่ปุ่น จากเส้นทางการสำรวจพบว่าเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยการสำรวจความเสียหายนี้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสร้างมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตของประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที

โดย รศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ ได้อธิบายข้อมูลพื้นฐานของ แผ่นดินไหว Noto และ Seismological Data และTectonic Data ซึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านธรณีวิทยามีความสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจกลไกการเกิดแผ่นดินไหว แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมากก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีความพร้อมรับมือกับการเกิดแผ่นดินไหวที่มีโอกาสเกิดได้น้อย เช่นเหตุการณ์นี้

รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ อธิบายถึงการตรวจวัดแผ่นดินไหว คลื่นแผ่นดินไหว Strong Motion Data โดยความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากเนื่องจากเมืองอยู่ใกล้แหล่งกำเนิด ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ผลกระทบและบทเรียนจาก Landslide การเกิดดินเหลว ดร.วีรเดช ธนพลังกร กล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้พบการเกิดดินเหลวในพื้นที่ที่มีองค์ประกอบของการเกิดครบถ้วน

ผศ. ดร.วงศา วรารักษ์สัจจะ เสริมเรื่องผลกระทบและบทเรียน ที่เกี่ยวกับโครงสร้างและสิ่งก่อสร้าง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าแม้อาคารบ้านเรือนจะถูกออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวแต่หลายอาคารเป็นอาคารเก่าจึงก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก

คุณณัฐพล ธรรมิกบวร เพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นของสึนามิว่า ความตระหนักและการเตรียมความพร้อมด้านสึนามิของประเทศญี่ปุ่น แม้จะช่วยให้ประชาชนสามารถตอบสนองเอาตัวรอดจากภัยสึนามิได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีช่องโหว่ที่ยังต้องปรับแก้กันต่อไป

โดยการจัดการหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว คุณอำพัน เหล่าสุนทร กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ก่อให้เกิดภัยอื่นๆ ที่ตามมา เช่น สึนามิ ไฟไหม้ ดินถล่ม ทำให้การบริหารจัดการหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก เหตุการณ์นี้จึงถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีที่จะเรียนรู้ และเป็นตัวอย่างเหตุการณ์ของการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินไหว

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มีการประชุม บรรยาย เสวนา Workshop ในหัวข้อต่าง ๆ มากกว่า 150 หัวข้อ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและศักยภาพของหน่วยงานในกระทรวง อว. ในการสร้างความแข็งแกร่งของสหวิทยาการในทุกด้าน ที่นำไปสู่การพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถและพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ความท้าทายของโลกยุคใหม่ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

วช. ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าชมงาน ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

SHARE

ข่าวและประกาศอื่น ๆ

งานประชุมวิชาการนานาชาติ The 3rd International Conference on Rice for The Future 2024: ICRF 2024

ขอเชิญชวนสมัครรับข่าวสารผ่าน “KRAC Newsletter“

“ศูนย์วัสดุยั่งยืนฯ” จัดประชุม 5th Zero-C & 1st i-SMaT มุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน

‘ศูนย์วัสดุยั่งยืนฯ’ ประชุม MTEC ร่วมขับเคลื่อนกลยุทธ์ End of Waste สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน