วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) ร่วมกับ Breath Cities และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Geo-Informatics and Space Technology Development Agency (Public Organization) – GISTDA) ได้จัดการอบรมสัมมนาเรื่อง “นาซ่าบินสำรวจอะไรเหนือกรุงเทพมหานคร และจะเข้าใจองค์ประกอบและแหล่งที่มาของสารมลพิษทุติยภูมิ ทั้งโอโซนและฝุ่น PM2.5 ได้อย่างไร” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ ของ วช. กล่าวเปิดการอบรมสัมมนาฯ และได้รับเกียรติจาก คุณพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการอบรมสัมมนาฯ ณ ห้องกษัตริย์ศึก 2 ชั้น 4 โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting มีผู้สนใจเข้าร่วมโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของ กทม. รวมทั้งสิ้นกว่า 100 คน
ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา กล่าวว่า ที่ผ่านมา วช. ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อรองรับการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 อาทิ นวัตกรรมการเตือนภัย การเฝ้าระวัง การบำบัดฝุ่น การวิเคราะห์องค์ประกอบเพื่อระบุแหล่งกำเนิด การประเมินมาตรการและผลกระทบด้านต่าง ๆ รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการฝุ่นในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการให้กับกรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร จังหวัด และเทศบาลต่าง ๆ ในการวางแผนและพัฒนามาตรการรองรับปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครถือเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และก๊าซโอโซน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการทางเคมีในบรรยากาศ หรือที่เรียกว่า “สารมลพิษทุติยภูมิ (Secondary Air Pollutants)” การทำความเข้าใจองค์ประกอบและแหล่งที่มาของสารมลพิษกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการในการบริหารจัดการคุณภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ

การอบรมในครั้งนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และผลการวิจัยให้แก่บุคลากรของกรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก Dr. James Crawford จาก NASA และ Prof. Junsu Gil จาก Korea University นำเสนอกรณีการบินสำรวจของ NASA และคณะนักวิจัยนานาชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต่อมา ดร.นันทพร หนูทราย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU) และ รศ.ดร.สาวิตรี การีเวชย์ จากศูนย์ JGSEE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) ได้นำเสนอการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากการสำรวจของ NASA เพื่อวิเคราะห์การเกิดของสารมลพิษทุติยภูมิในรูปของโอโซนและฝุ่น PM2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากนั้น ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร จาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ได้นำเสนอการใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดร.พรรณวดี สุวัฒิกะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTNB) และ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (HTAPC) ได้นำเสนอปัญหาโอโซนระดับผิวดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากการติดตามตรวจวัดองค์ประกอบทางเคมีและงานวิจัยที่ผ่านมา รศ.ดร.นเรศ เชื้อสุวรรณ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT) กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานครจากการศึกษาด้านองค์ประกอบทางเคมี และ รศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU) ได้นำเสนอเรื่องการติดตามตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิในระดับความสูงต่าง ๆ เหนือพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการคุณภาพอากาศ











ในช่วงท้ายของการอบรม ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เข้าร่วมประชุม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและสรุปข้อเสนอแนะเพื่อแนวทางการบูรณาการในการจัดการคุณภาพอากาศ พร้อมทั้งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในกรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างตรงจุด เพื่อเป้าหมาย “อากาศสะอาดในกรุงเทพมหานคร”







