วช. HTAPC และ GISTDA ประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ จุดความร้อน และฝุ่น PM2.5

SHARE

วช. HTAPC และ GISTDA ประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ จุดความร้อน และฝุ่น PM2.5

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับงานวิจัยและการปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ จุดความร้อน และฝุ่น PM2.5 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช. 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และทางออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ คุณเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวฯ และได้กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญของ วช. ในการร่วมสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ วช. จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการการบูรณาการการใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับงานวิจัยและการปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 เป็นอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้ข้อมูลดังกล่าวจากหลายหน่วยงาน ทั้งในการปฏิบัติงานและการศึกษาวิจัยต่าง ๆ และการนําไปประยุกต์ใช้มีความหลากหลายแตกต่างกัน เพื่อให้การบูรณาการข้อมูลดาวเทียมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จึงได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมในเชิงวิจัยและการปฏิบัติการ

การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ สทอภ. เป็นผู้ดำเนินรายการ และร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Space-Based Earth Observations: Fundamental to Prosperity, Security, and Resilience on Our Changing Planet” ซึ่งมีการกล่าวถึงข้อมูลทั่วไปของดาวเทียมแต่ละประเภท และการใช้ข้อมูลดาวเทียม รวมไปถึงการบูรณาการการใช้ข้อมูลสำหรับบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 จากนั้น ดร.สุรัสวดี ภูมิพานิช นักภูมิสารสนเทศชำนาญการ สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ สทอภ. บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการภัยพิบัติ (GISTDA Decision Support System: GISTDA DSS)” กล่าวถึงการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำหรับการติดตาม การเฝ้าระวัง และการใช้ข้อมูลในการบริหารจัดการภัยพิบัติต่างๆ เช่น การติดตามลักษณะการเจริญเติบโตของพืชแต่ละประเภท การติดตามจุดความร้อน และการติดตามหรือเฝ้าระวังอุทกภัย เป็นต้น หลังจากนั้นได้มีการบรรยายเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “เชื่อมโยงการให้บริการเชิงพื้นที่แก่ผู้รับบริการในทุกมิติบนระบบดิจิทัล (AWAGAD)” โดย คุณแสงระวี วงษ์กาไชย เจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจชำนาญการ สำนักสร้างเสริมพัฒนา สทอภ.ซึ่งได้นำเสนอแพลตฟอร์มที่ได้รับการพัฒนาจาก สทอภ. เพื่อให้บริการข้อมูลต่างๆจากดาวเทียมในแต่ละประเภท รวมถึงการสร้างความร่วมมือสำหรับผู้ที่สนใจในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียม จากนั้น ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ได้เปิดการหารือเกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำหรับงานวิจัยและการปฏิบัติการจากผู้เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 โดยมุ่งเน้นให้เกิดความแม่นยำและเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ข้อมูลดาวเทียม

ในช่วงสุดท้าย ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ และดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ สทอภ.ร่วมให้ข้อคิดเห็นในการสรุปผลการหารือและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการการใช้ข้อมูลและแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมสำหรับงานวิจัยและการปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมุ่งหวังให้เกิดแนวทางที่เป็นระบบและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงเพื่อการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภา

SHARE

ข่าวและประกาศอื่น ๆ

วช. ร่วมจัดแสดงนิทรรศการในหัวข้อ “การท่องเที่ยวด้านอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่น”

วช. HTAPC GISTDA ร่วมกับ Breath Cities เสริมความรู้ด้านองค์ประกอบและแหล่งที่มาของสารมลพิษทุติยภูมิ ทั้งโอโซนและฝุ่น PM2.5

ขอเชิญชวนท่านเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ

วช. ร่วมกับศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดทำแผนแม่บทวิจัยด้าน Health Innovation and Technology” สู่อนาคตระบบสุขภาพไทย