วช. ร่วมกับศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดทำแผนแม่บทวิจัยด้าน Health Innovation and Technology” สู่อนาคตระบบสุขภาพไทย

SHARE

วช. ร่วมกับศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดทำแผนแม่บทวิจัยด้าน Health Innovation and Technology” สู่อนาคตระบบสุขภาพไทย

วช. ร่วมกับศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดทำแผนแม่บทวิจัยด้าน Health Innovation and Technology” สู่อนาคตระบบสุขภาพไทย

วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือ HIT Network จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนแม่บทวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน และ รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย กล่าวต้อนรับ ณ ห้องประชุมวีนัส โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยในงานมีผู้บริหารระดับนโยบาย นักวิชาการ นักวิจัย และตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาร่วมกว่า 100 คน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน “Hub of Talents” เพื่อสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระดับชาติ โดยมุ่งเน้นให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์จริง ทั้งในด้านวิชาการ อุตสาหกรรม และบริการสาธารณสุข พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า ศูนย์ HIT Network จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลของไทยให้เข้มแข็ง ทันสมัย และตอบโจทย์ประชาชนในทุกมิติ

รศ. ดร. ดวงพรรณ กริชชาญชัย ผู้บริหารจัดการศูนย์ HIT Network กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของการวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแผนแม่บทระดับชาติด้าน Digital Health พร้อมวางรากฐานการพัฒนาศักยภาพกำลังคนเพื่อรองรับระบบสุขภาพยุคใหม่อย่างยั่งยืน

และภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับนโยบายร่วมปาฐกถาพิเศษ เพื่อถ่ายทอดวิสัยทัศน์และแนวทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมสุขภาพของประเทศไทย ได้แก่

ศ. ดร.วิษณุ มีอยู่ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงบทบาทของงานวิจัยและนวัตกรรมในการยกระดับระบบสุขภาพ และการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ขั้นสูง โดยสนับสนุนโครงการเชิงกลยุทธ์ที่บูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม โดย สกสว. ได้วางยุทธศาสตร์ระยะปี พ.ศ. 2566–2570 เพื่อสนับสนุนการวิจัยเชิงกลยุทธ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง อาทิ วัคซีน ยาชีววัตถุ และสมุนไพร พร้อมตั้งเป้าลดการพึ่งพาการนำเข้า และขยายการเข้าถึงนวัตกรรมสุขภาพคุณภาพให้ประชาชน

จากนั้น นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายภาครัฐกับ Digital Health Innovation & Technology: ทิศทางและแนวทางขับเคลื่อนประเทศ” โดยเน้นย้ำถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลด้านสุขภาพของประเทศผ่าน ระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข และแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระดับประเทศ เพื่อยกระดับการบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และต่อเนื่อง

นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายสาธารณสุขกับ Health Innovation & Technology” โดยเน้นย้ำการยกระดับระบบข้อมูลสุขภาพของประเทศผ่าน Digital Health Ecosystem ที่เชื่อมโยงระบบเวชระเบียน, e-KYC, บัตรสุขภาพดิจิทัล, และคลังภาพรังสีระดับชาติ เพื่อสนับสนุนการแพทย์แม่นยำ ลดความซ้ำซ้อนในการรักษา และสร้างบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ

คุณวิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ จาก FutureTales Lab, MQDC ถ่ายทอดมุมมองอนาคตระบบสุขภาพไทยในปี พ.ศ. 2576 ผ่าน 5 ฉากทัศน์ ตั้งแต่สถานการณ์วิกฤตสาธารณสุข ไปจนถึงการเป็นสังคมสุขภาพอัจฉริยะ โดยใช้กระบวนการ Lean Foresight เพื่อเตรียมพร้อมให้ทุกภาคส่วนก้าวทันความเปลี่ยนแปลง

และในช่วงท้ายของการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ มีการจัดกิจกรรมระดมสมองแบ่งเป็น 3 กลุ่มผู้เชี่ยวชาญหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1: ระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (Healthcare Logistics and Supply Chain Management) กลุ่มที่ 2: ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (AI and Robotics in Healthcare) และกลุ่มที่ 3: สุขภาพดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digital Health and Technology)

การจัดสัมมนาระดมสมองในครั้งนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการวิจัยและนวัตกรรมสุขภาพของประเทศในอนาคต โดยข้อเสนอที่ได้จากการระดมความคิดเห็นในวันนี้จะถูกนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาแผนแม่บทวิจัยระดับชาติ ที่ไม่เพียงมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย แต่ยังครอบคลุมถึงการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์จริงในระดับพื้นที่ และการเตรียมความพร้อมบุคลากรให้ทันต่อโลกสุขภาพยุคดิจิทัล

SHARE

ข่าวและประกาศอื่น ๆ

โกง vs. คอร์รัปชัน ต่างกันยังไง? 🤔💭

KRAC Corruption และ #ต้องแฉ รวมวิธีแจ้งเบาะแสให้คุณแล้ว!

Thailand BioMed Hub of Talents ม.เชียงใหม่ และ วช. ผนึกกำลังผู้เชี่ยวชาญ จัดประชุมวิชาการพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์ขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่อุตสาหกรรมไทยในอนาคต

Infrastructure Transparency Initiative