ศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย (Hub of Rice) ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และภาคีเครือข่ายด้านการวิจัยข้าวของประเทศไทย จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ The 3rd International Conference on Rice for The Future 2024: ICRF 2024 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการวิจัยข้าว ขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนและสร้างการประกันความมั่นคงทางอาหารในอนาคต รวมถึงเป็นเวทีสร้างเครือข่ายนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการข้าวทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรม GRAND RICHMOND
ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 3 เรื่องข้าวเพื่ออนาคต (3rd International Conference on Rice for The Future 2024: ICRF 2024) มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน จาก 14 ประเทศ จึงนับเป็นการรวมพลังเครือข่ายงานวิจัยข้าวจากทั่วโลกครั้งสำคัญ เริ่มจากเครือข่ายงานวิจัยข้าวในไทย รศ.ดร.ศิวเรศ อารีกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ICRF2024 เป็นงานที่นำเสนอข้อมูลงานวิจัยด้านข้าวในทุกมิติ โดยมีวิทยากรทั้งในและต่างประเทศให้การบรรยาย มากถึง 14 คน และยังมีการนำเสนอแบบปากเปล่า 45 เรื่อง และนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ 84 เรื่อง แบ่งเป็น 7 หัวข้อหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแปรรูปใหม่และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การแพทย์และเภสัชกรรม ความเครียดทางชีวภาพ ความเครียดจากสิ่งแวดล้อม จีโนมิกส์ของข้าวเทคโนโลยีโอมิกส์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และเทคโนโลยีเกษตรขั้นสูง”
ด้าน ศ.ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า“การประชุม ICRF 2024 เป็นงานที่รวมบุคคลสำคัญจากทั่วโลกที่มารวมตัวกัน เพื่อแบ่งปันความรู้และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพืชผลที่สำคัญที่สุดนั่นคือ “ข้าว” ปัจจุบันการวิจัยข้าวมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความท้าทายที่เราเผชิญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนน้ำ และความต้องการผลผลิตที่สูงขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาข้าวอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ มีการบุกเบิกพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่มีความสามารถในการปรับตัว มีคุณค่าทางโภชนาการ และยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งได้บูรณาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น จีโนมิกส์ เกษตรแม่นยำ และเทคโนโลยีชีวภาพ”
โดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะทำงานที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวในฐานะประธานเปิดการประชุม ว่า“การประชุมครั้งนี้เป็นโครงการริเริ่มสำคัญที่กำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งเครือข่ายนักวิจัยที่ทำงานในพื้นที่สำคัญต่างๆ รวมถึงการปรับปรุงผลผลิตข้าว เพิ่มความต้านทานโรค และจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความพยายามเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลกของการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยข้าวและใช้การวิจัยและนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศไปเดินหน้าต่อไป”
ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร สวทช. กล่าวถึงบทบาทของ ไบโอเทค สวทช. ว่า “ไบโอเทค สวทช. มีความมุ่งมั่นที่จะบุกเบิกความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะเพื่อเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การวิจัยข้าวนับเป็นจุดสนใจที่สำคัญในความพยายามทางการเกษตรของไบโอเทค โดยการวิจัยข้าวได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลจีโนมเพื่อตรวจสอบลักษณะที่สำคัญสำหรับข้าว และพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ด้วยความร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ สถาบันวิจัย และกรมการข้าว ทำให้สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรไทย”
อัปเดตเทรนด์การพัฒนางานวิจัยข้าวในต่างประเทศ พร้อมแนวทางการปรับใช้กับ อุตสาหกรรมข้าวไทย
ดังที่ได้เกริ่นไว้ว่า นอกจากเครือข่ายงานวิจัยไทยแล้ว การประชุม ICRF 2024 ยังมีเครือข่ายนักวิจัยข้าวจากทั่วโลกมาร่วมแชร์ข้อมูลงานวิจัยที่น่าสนใจ ซึ่งประเทศไทยสามารถนำไปต่อยอดพัฒนา อุตสาหกรรมข้าวไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในงานนี้ มีวิทยากรระดับนานาชาติที่สำคัญมีด้วยกันหลายท่าน อาทิ Reiner Wassmann จาก International Rice Research Institute (IRRI) ประเทศฟิลิปปินส์ บรรยายเรื่อง Greenhouse Gas Emissions from Rice Production: Significance, mitigation options and the emerging carbon markets (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตข้าว : ความสำคัญ การลดผลกระทบ และการเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอน) ระบุว่า “การผลิตข้าวเป็นแหล่งสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas: GHG) โดยเฉพาะก๊าซมีเทน ซึ่งโดยเฉลี่ยคิดเป็นประมาณ 1.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ในบางประเทศอาจมีสัดส่วนที่สูงกว่านั้น ทำให้การปลูกข้าวถูกตั้งเป็นเป้าหมายสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจก”
“แม้กระทั่งในระดับนโยบายอย่างความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะการลดใช้น้ำ ที่เปลี่ยนวิธีการจัดการน้ำในแปลงนาจากการท่วมขังต่อเนื่องแบบปกติให้มาเป็นระบบเปียกสลับแห้ง ส่งผลให้ลดปลดปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 50% และเป็นวิธีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในด้านการสร้างคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนหลายรายเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรองด้านคาร์บอนเครดิตในการผลิตข้าว แต่ด้วยลักษณะของระบบเกษตรกรรมที่ส่วนมากเป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้การดำเนินงานประสบกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งในเชิงปฏิบัติการ ด้านการเงิน และด้านกฎหมาย ทั้งนี้กระบวนการต่างๆ ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจนำไปสู่การนำวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกมาใช้อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น”
ขณะที่ Nese Sreenivasulu จาก International Rice Research Institute (IRRI) ประเทศฟิลิปปินส์ บรรยายเรื่อง Low glycemic index and High protein rice to transform food and Nutritional security in Asia (ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำและโปรตีนสูง เพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงทางโภชนาการในเอเชีย) ระบุว่า“งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นด้านการพัฒนาข้าวเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งทีมวิจัยได้พัฒนาข้าวสายพันธุ์ HAHP101 จากการผสมระหว่างข้าว Samba Mahsuri และ IR36 amylose extender โดยมุ่งเป้าไปที่การผลิตข้าวที่มีดัชนีน้ำตาล (GI) ต่ำถึงต่ำมากและมีโปรตีน (PC) สูง โดยผลจากการวิเคราะห์ทางพันธุศาสตร์และเมแทบอลิซึมพบความสำคัญของยีน OsSBEIIb และยีนประกอบอื่นๆ บนโครโมโซมที่ 2 ที่เชื่อมโยงกับลักษณะ GI ต่ำและ PC สูง (14-16%) ซึ่งได้รับการยืนยันด้วยวิธีปรับแต่งพันธุกรรมที่บริเวณยีนดังกล่าว”
ด้าน Julie Gray จาก School of Biosciences, University of Sheffield, UK บรรยายเรื่อง Water-saving Rice (ข้าวใช้น้ำน้อย) ระบุว่า พืชต่างๆ สามารถสูญเสียน้ำผ่านทางปากใบ โดยพืชสามารถปรับขนาดของปากใบ รวมไปถึงระดับการพัฒนาได้ตามธรรมชาติเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้
“จากข้อมูลดังกล่าวทางทีมวิจัยสามารถพัฒนาพันธุ์พืชที่มีความหนาแน่นของปากใบมากและน้อยกว่าปกติได้ โดยการปรับระดับของเป็ปไทด์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบเซลล์ผิวใบ ทั้งนี้ พืชที่มีความหนาแน่นของปากใบต่ำจะมีอัตราการสูญเสียน้ำที่ต่ำลง ส่งผลให้ทนแล้งดียิ่งขึ้น เช่น ข้าวที่มีจำนวนปากใบเป็นครึ่งหนึ่งจากปกติจะใช้น้ำเพียง 60% ของปริมาณน้ำตามปกติ ทำให้สามารถอยู่รอดในช่วงภัยแล้งได้ดีและยังคงปริมาณผลผลิตไว้ได้ อีกทั้งพืชลักษณะดังกล่าวยังคงสภาพได้ดีในสภาวะดินเค็ม เนื่องจากเกิดการสะสมของเกลือน้อย ดังนั้นพืชที่มีลักษณะความหนาแน่นปากใบน้อยสามารถรักษาระดับผลผลิตในสภาพที่เครียดได้ ซึ่งอาจช่วยแก้ไขผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารได้”