Infrastructure Transparency Initiative

SHARE

Infrastructure Transparency Initiative

🚨 อุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนพระราม 2 ‼️

เหตุการณ์โครงสร้างถล่มเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ไม่ใช่อุบัติเหตุครั้งแรก แต่เป็นหนึ่งใน กว่า 2,500 อุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นบนโครงการก่อสร้างนี้!

⚠️ น่าสนใจว่า
❌ บริษัทก่อสร้างยังได้ขยายสัญญา แม้โครงการล่าช้า
❌ ไทยยังไม่มีบัญชีดำผู้รับเหมา!
❌ ภาครัฐไม่มีมาตรการลงโทษที่ชัดเจน

🛑 ถึงเวลาปฏิรูป!
✅ ระบบจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส
✅ ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย
✅ ต้องมีมาตรการป้องกันและลงโทษที่จริงจัง

🚧 ปัญหานี้กระทบชีวิตคนไทยโดยตรง ถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันจับตา!

เหตุการณ์อุบัติเหตุโครงสร้างทรุดตัวของการก่อสร้างตามแนวถนนพระราม 2 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต คงทำให้ใครหลายคนหวั่นใจกับการใช้รถใช้ถนนผ่านเส้นทางนั้นอยู่ไม่น้อย น่าตกใจเมื่อย้อนดูสถิติอุบัติเหตุนับตั้งแต่การก่อสร้างโครงการนี้ พบว่ามีอุบัติเหตุมากกว่า 2,500 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 143 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 1,441 ราย ซึ่งนี่ถือเป็นโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ แต่กลับไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือเมื่อลงรายละเอียดในตัวโครงการจัดซื้อจัดจ้างจากข้อมูลของกรมบัญชีกลาง ชี้ว่าการก่อสร้างทางด่วนพระราม 2 ถูกซอยย่อยมากถึง 18 สัญญา เป็นเงินงบประมาณกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท คือ ทางยกระดับพระราม 2 มูลค่า 30,200 ล้านบาท และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3- ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก มูลค่า 30,000 ล้านบาท ฉะนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการก่อสร้างทั้งสองนี้มีการซอยสัญญาเพื่อทำการจัดซื้อจัดจ้างค่อนข้างมาก ที่สำคัญไปกว่านั้น ผู้รับเหมาจำนวนมากมาในลักษณะการร่วมทุนของกลุ่มต่าง ๆ

แม้ว่าจะยังไม่มีการตรวจพบว่าโครงการนี้มีการคอร์รัปชันหรือไม่ แต่เป็นที่น่าสงสัยว่าไม่มีการลงดาบบรรดาบริษัทรับเหมาอย่างจริงจังกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ที่สำคัญหนึ่งในบริษัทร่วมทุนยังมีคดีความผัวพันกับคดีคลองด่านอีกด้วย แย่ไปกว่านั้น โครงการนี้มีความล่าช้าออกไปมาก แต่ภาครัฐยังคงใจดีต่อและยืดอายุสัญญาให้กับบริษัทที่มารับเหมา โดยไม่มีค่าปรับใด ๆ สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ระบุว่าปัจจุบันไทยยังไม่มีสมุดพกผู้รับเหมา ยิ่งไปกว่านั้นคือรัฐยังขาดการบังคับใช้กฎระเบียบกับบริษัทผู้รับงานที่นำงานไปปล่อยรับช่วงต่อกับบริษัทย่อยอื่น นี่คือภาพสะท้อนปัญหาช่องโหว่ด้านธรรมาภิบาลในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในภาครัฐของไทย ซึ่งถูกมองว่ามีการคอร์รัปชันอยู่ค่อนข้างมาก ข้อมูลจากงานวิจัยโดย สุพรรณี ไชยอำพร และศิรินทร์ทิพย์ อรุณเรื่อ (2558) ชี้ว่าการทุจริตอาจจะทำให้งบประมาณหายไปสูงถึงร้อยละ 30 เฉพาะช่วงปี 2543-2549 ไทยอาจเสียงบประมาณจากการคอร์รัปชันในโครงการก่อสร้างสูงถึง 407,058.6 ล้านบาท

(1) ลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมการพัฒนาประเทศในระยะยาว รวมถึงสวัสดิภาพของคนไทย ส่งผลให้ประเทศไทยในเวลาต่อมาเลือกเข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative) หรือ CoST ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือป้องกันคอร์รัปชัน และเพิ่มความโปร่งใสในงานก่อสร้างโครงการพื้นฐาน (Infrastructure Project) ของประเทศ โครงการนี้มุ่งพิจารณาโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายในการกำหนดว่าโครงการใดควรจัดอยู่ใน CoST อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ Infrastructure Anti-Corruption Accelerator (IACA) Thailand Bootcamp ของ CoST ประเทศไทย ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม สะท้อนให้เห็นว่าระบบดังกล่าวยังคงมีข้อบกพร่องอยู่มาก โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทย ภาคธุรกิจจำนวนหนึ่งสะท้อนว่าปัญหาการคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเริ่มต้นตั้งแต่การร่าง ข้อกําหนดโครงการ หรือ TOR ซึ่งบางหน่วยงานมีรายละเอียดเฉพาะเจาะจง จนมีบริษัทจำนวนน้อยรายที่สามารถเข้าร่วมประมูลงานได้ ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าถึงข้อมูลการประมูลงานถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชันในการประมูลงานภาครัฐได้ง่าย เพราะขาดการตรวจสอบจากภาคส่วนอื่น ๆ สอดคล้องกับงานวิจัยที่อ้างไว้ข้างต้นที่ระบุชัดเจนว่าปัญหาใหญ่ในการคอร์รัปชันของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มาจากระบบการเมืองที่ใช้อำนาจในเชิงอุปถัมภ์ กับบรรดานักธุรกิจผู้ให้ทุนสนับสนุนในช่วงเลือกตั้ง ที่เป็นลักษณะการกินตามน้ำ ทวนน้ำ ล็อกสเปก ฮั้วงาน รวมถึงการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้เเก่ นักการเมือง ข้าราชการ และผู้รับเหมาก่อสร้าง

(2) ในเชิงนโยบายจึงมีการนำเสนอให้ปรับปรุงระบบการแสดงผลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใหม่ให้มีความโปร่งใส เปิดเผย และเข้าถึงง่าย เพื่อให้ประชาชนและภาคประชาสังคมสามารถเข้าไปตรวจสอบการประมูลงานภาครัฐได้สะดวกขึ้น
การเปิดเผยข้อมูลยังมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความโปร่งใส และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำงานกับภาครัฐเพื่อป้องกันการคอร์รัปชันตั้งแต่ต้นน้ำ เมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติในการประมูลงาน ข้อเสนอเชิงประจักษ์ที่น่าสนใจนี้สอดคล้องกับหลากหลายงานวิจัยเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชันที่ระบุในลักษณะคล้ายกันว่าการมีข้อมูลเปิด ที่เข้าถึงได้ง่ายมีส่วนสำคัญต่อการป้องกันการคอร์รัปชันในภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ด้วยว่าการมีข้อมูลเปิด ที่เข้าถึงง่ายส่งผลอย่างมากต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยสอดส่องการคอร์รัปชัน ส่งผลให้ภาครัฐมีความโปร่งใส และลดปัญหาความสิ้นเปลืองจากการทุจริตด้วย
.
#ต่อต้านคอร์รัปชัน#AntiCorruption#พระราม2#KRACCorruption
#KRACHotNews#KRAC

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://kraccorruption.com/…/krac-kudsan…/ (1)

อ่านสรุปงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ https://kraccorruption.com/…/krac-research-brief…/ (2)

SHARE

ข่าวและประกาศอื่น ๆ

โกง vs. คอร์รัปชัน ต่างกันยังไง? 🤔💭

KRAC Corruption และ #ต้องแฉ รวมวิธีแจ้งเบาะแสให้คุณแล้ว!

สวนดุสิตปฏิวัติวงการอาหารไทย​ ด้วยพลัง AI และคอนเทนต์สุดปัง

“การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ : การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพาะเลี้ยงมดแดง”